วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

Goshiki ปลาปราบเซียน

สวัสดีครับเพื่อนๆทุกท่าน
วันนี้ผมขอแนะนำปลาคาร์ฟวาไรตี้หนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้  
ซึ่งนั่นก็คือวาไรตี้ โงชิกิ(Goshiki) หรือปลาคาร์ฟที่มีห้าสี
ประกอบด้วยสีแดง สีดำ สีขาว ซึ่งได้มาจากซันเก้(Sanke)
และสีน้ำเงิน  สีฟ้า ที่ได้จากอาซากิ(Asagi)
บอกเท่านี้เพื่อนๆคงพอเดาได้ใช่ไหมครับ
ว่าเจ้าโงชิกิยุคแรกเกิดจากการผสมระหว่าง อาซากิกับซันเก้
ในที่นี้เราหมายถึง Aka Sanke(ซันเก้ที่มีสีแดงเป็นส่วนใหญ่)
และAka Bekko(ปลาคาร์พสีแดงที่มีจุดสีดำ)
ให้ได้ปลาที่มีลวดลายเหมือนโคฮากุ แต่มีพื้นเป็นสีฟ้าเหมือนอาซากิ
 
อาซากิ + โคฮากุ = โงชิกิ
จากรูปแสดงให้เห็นถึงลักษณะของโงชิกิ
ที่มีการผสมผสานระหว่างอาซากิ และโคฮากุ
กล่าวคือ มีลายสีแดงที่สะอาดไม่มีฝุ่นดำ และมีตาข่ายที่สวยงาม
และมีโครงสร้างที่ดี  นับเป็นโงชิกิในอุดมคติ
โงชิกิซันเก้
เพื่อนๆบางท่านเริ่มสงสัยว่า จุดเริ่มต้นของโงชิกิ
เกิดจาก อาซากิผสม Aka Sanke และ Aka Bekko
ไมจึงไม่มีจุดดำแบบซันเก้  คำตอบง่ายที่สุดคือ
บรีดเดอร์เองพยายามที่จะให้คงไว้เพียงแดงที่สะอาดกับพื้นสีน้ำเงินที่สวยงาม
โดยการนำโงชิกิรุ่นต่อๆมา  ผสมเข้ากับโคฮากุเพื่อให้ได้แดงที่สะอาด
และโครงสร้างที่ดี  แต่ข้อด้อยของโงชิกิที่มีลักษณะโคฮากุมากๆ
คือสีพื้นจะเหลือเพียงสีเทาจางๆไม่ค่อยเข้ม
ในปัจจุบันจึงได้มีการนำฮายิโระ(Hajiro)
ซึ่งเป็นปลาสีดำครีบว่ายสีขาวมาผสมเพื่อต้องการให้สีพื้นมีความเข้มมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีโงชิกิซันเก้ก็มีให้เราเห็นอยู่บ้าง  
หลังจากที่พวกเราพอทราบถึงต้นกำเนิดของโงชิกิมาบ้างแล้ว
ลำดับต่อมาเราจะมาพิจารณาทีละส่วนของโงชิกิเพื่อทำความเข้าใจโงชิกิได้ดียิ่งขึ้น
โดยการแบ่งพิจารณาเป็นสองส่วน ดังนี้
ส่วนแรกคือลักษณะของลวดลายสีแดง และส่วนที่สองคือลักษณะของสีพื้น
ส่วนที่ 1 ลักษณะของลวดลายสีแดงในโงชิกิ แบ่งได้ดังนี้
 
1 โงชิกิที่มีลายแดงที่สะอาดเหมือนโคฮากุ
2 โงชิกิที่มีลายแดงแบบโกโรโมะ โดยมีตาข่ายขึ้นอย่างมีระเบียบ

3 โงชิกิที่มีลายแดงที่ตาข่ายขึ้นบางเกล็ด
4 โงชิกิที่มีลายแดงแบบซูมิโกโรโมะ โดยมีตาข่ายและจุดดำเกิดขึ้นในบางส่วนของลายสีแดง

นักเลี้ยงส่วนใหญ่นิยมโงชิกิที่มีลายสีแดงแบบที่ 1 มากที่สุด
ซึ่งเป็นลายสีแดงแบบโคฮากุ เป็นลวดลายที่สะอาดไม่ปรากฏจุดดำใดๆเลย
แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสายเลือดโคฮากุที่มีอยู่ในโงชิกิตัวนั้นๆ
อย่างไรก็ดีลายแดงแบบที่ 2 ก็เป็นที่ยอมรับได้
ถึงแม้ว่าลายแดงจะมีตาข่ายขึ้น แต่ก็เป็นตาข่ายที่เป็นระเบียบ
และขึ้นทั่วทั้งตัวเป็นลักษณะดั่งเดิมของโงชิกิที่มีสายเลือดอาซากิผสมอยู่
ลายสีแดงที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับโงชิกิคือลวดลายแดง
แบบที่ 4 ลายแดงแบบซูมิโงชิกิ เกิดจากลายเลือดซันเก้
และอะกาเป๊กโกะที่ยังคงมีอยู่ในโงชิกิจึงทำให้มีโงชิกิจำนวนไม่น้อย
ที่มีลายแดงแบบซูมิโกโรโมะ เพราะลายแดงแบบนี้
นอกจากจะมีจุดดำมาลดเสน่ห์ของโงชิกิแล้ว
เมื่อปลามีอายุมากขึ้นมีโอกาสสูงที่จุดดำจะเพิ่มมากขึ้น
 
โงชิกิที่มีลวดลายสีแดงแบบซูมิโกโรโมะ
เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสที่ลายแดงจะเกิดตาข่าย
และจุดดำจะมีมากขึ้นทำให้ความสวยงามลดลง

ส่วนที่ 2 ลักษณะของสีพื้นในโงชิกิ แบ่งได้ดังนี้
 
แบบ Asagi  เป็นโงชิกิที่แสดงยีนเด่นของอาซากิออกมาให้เห็น
สามารถแยกย่อยเป็นKonjo Asugi และ Narumi Asagi

แบบ Shiro  เป็นโงชิกิที่แสดงยีนเด่นของโคฮากุออกมาให้เห็น
บางตัวอาจเป็นสีเทาจางๆทั่วทั้งตัว

แบบ Kuro เป็นโงชิกิที่แสดงยีนเด่นของฮายิโระออกมาให้เห็น
เป็นแบบที่นิยมที่สุดในกลุ่มนักเลี้ยง

สำหรับสีพื้นแบบ Asagi สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบคือ
แบบ Konjo Asagi และแบบ Narumi Asagi
 
ภาพจาก  www.beautysmile-koi.blogspot.com
 
  ภาพจาก  www.beautysmile-koi.blogspot.com
 
สีพื้นของโงชิกิ แบบ Narumi Asagi
โงชิกิเองได้ชื่อว่าเป็นปลาปราบเซียน
เพราะเป็นปลาที่คาดเดาสีพื้นของโงชิกิได้ค่อนข้างยาก
มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา 
บางกระแสก็บอกว่าสีพื้นของโงชิกิเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิ 
สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้โงชิกิเป็นวาไรตี้หนึ่งของปลาคาร์พที่มีความท้าทาย 
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของโงชิกิ
สำหรับนักเลี้ยงแนวศึกษาและผู้ชอบทดลอง จึงได้เกิด
โครงการ TKKG Goshiki Championship 2013-2014
(ศึกสายเลือดTKKG) ขึ้นมา
เพื่อนๆที่สนใจสามารถติดตามชมภาพปลา
และพัฒนาการของปลาจากสมาชิก TKKG
ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้ที่ www.koi-keeper.net
 นอกจากนี้  เพื่อนๆสามารถสอบถามพูดคุยได้
โดยผ่านเว็ปบอร์ดของ TKKG แล้วพบกันใหม่ขอบคุณครับ

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

Bani development

สวัสดีครับเพื่อนผู้รักปลาคาร์พ  วันนี้ผมของนำเสนออีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับพวกเราผู้รักปลาคาร์พในเชิงศึกษา  นั่นคือ การทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาของสีแดงบนตัวปลาคาร์พ  โดยปลาคาร์พในการ ทดลองของเราในครั้งนี้  เป็นปลาคาร์พจากบรีดเดอร์ชาวไทย มูลค่า 10 บาท ขนาด 7 เซนติเมตร  ก่อนที่เราจะเริ่มกันผมขอแนะนำชื่อเรียกตามแบบสากลนิยมสำหรับโคฮากุเพื่อให้พวกเราเข้าใจมากยิ่งขึ้น
จากภาพด้านบน เพื่อนคงพอเข้าใจชื่อเรียกบริเวณต่างๆมากยิ่งขึ้นแล้วนะครับ  ปลาตัวนี้เราจะนำมาทดสอบกันดูว่าสีแดงช่วงไหล่ของปลาจะเชื่อมติดกันหรือแยกห่างออกจากกันเพื่อใช้เป็นองค์ความรู้สำหรับการเลือกหาปลามาเลี้ยงในโอกาสต่อไป  เบื้องต้นเราหลายท่านคงพิจารณาแล้วคิดว่าสีแดงบริเวณไหล่มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาขึ้นมาจนติดกัน  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงจะทำให้ปลาดูสวยน้อยลง  ผู้เลี้ยงเองมีความตั้งใจที่จะไม่ให้สีแดงติดกันจึงได้เลี้ยงปลาในช่วง เดือนแรกโดยใช้อาหารที่ไม่มีสารเร่งสีใดเลย  ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไรพวกเราลองพิจารณาดูกันต่อไปนะครับ
 เวลาผ่านไป 1 เดือนปลาตัวนี้มีขนาดโตเมื่อเพิ่มขึ้นเป็น 10 เซนติเมตร  มีการเปลี่ยนแปลงอื่นนอกจากขนาดที่โตเพิ่มขึ้น และมีความอ้วนหนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจน  
เมื่อพิจารณาสีแดงจะเห็นว่าซาชิของแดงก้อนที่สองช่วงไหล่ของปลามีการพัฒนาเพิ่มขึ้น มีโอกาสสูงที่แดงจะพัฒนาจนติดกันได้  นอกจากนั้นพื้นสีแดงดูอ่อนลงอาจเป็นเพราะปลาโตขึ้นพื้นแดงจึงยืดขยายออกจนเรามองเห็นความไม่สม่ำเสมอของสีแดงภายในเกล็ดของปลาแต่ละเกล็ด
โปรดพิจารณาจากรูปข้างตัวปลาทั้งด้านซ้ายและขวา จะเห็นได้ชัดเจนว่าสีแดงบริเวณขอบเกล็ดจะดูมีโทนสีที่อ่อนกว่า  นอกจากนั้นเราจะเห็นที่ใบครีบวายเริ่มมีสีแดง  เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลยสำหรับปลาตัวนี้

แต่ผมยังคงเลี้ยงวิธีเดิม คือ ให้อาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารเร่งสีอย่างต่อเนื่อง  จนเวลาผ่านไป 2 เดือนสิ่งที่เราจะได้เห็นเป็นความน่าประหลาดสำหรับปลาตัวนี้  คือสีแดงช่วงไหล่ของปลาดูห่างออกจากกันจนไม่ต้องกังวลว่าแดงจะเชื่อมติดกันอีกต่อไป  หลังจากนั้นผู้เลี้ยงจึงได้เพิ่มอาหารเร่งสีในสัดส่วน 30% เวลาผ่านไปอีก 1 เดือนจนทำให้สีแดงดูดีขึ้นมาก 
 ดูคุณภาพของสีแดงที่คมชัด และมีความหนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของปลาตัวนี้ พร้อมกับแดงที่บริเวณครีบว่ายต่างๆกลับหายไปหมดอย่างน่าประหลาดใจ
 การเลี้ยงปลาคาร์พ นั้นเป็นเหมือนการผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์อย่างแท้จริง  ปลาจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเลี้ยงดู  ถ้าเรารักและช่างสังเกตก็จะมีอะไรให้สนุกเสมอครับ ปลาคาร์พ ตัวละ 10 บาท ยังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายภายในเวลาเพียง 5 เดือน
 ทั้งนี้ ผมอยากเชิญชวนเพื่อนๆลองหันมาเลี้ยงปลาในเชิงศึกษาค้นคว้าทดลองดูบ้างเป็นเหมือนการแข่งกับตัวเองก็จะทำให้การเลี้ยงปลาของเราสนุกมากยิ่งขึ้น

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คำขอบคุณจาก Koi-mio

สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ ทุกท่าน
Koi-mio ได้หยุดการเขียนบล็อกมาเกือบครบปี
ด้วยภาระกิจต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

ระหว่างที่เว้นว่างการเขียนบล็อก พี่ๆ เพื่อนๆ
ยังให้ความสนใจ Koi-mio อย่างต่อเนื่อง
โดยดูจากสถิติการเข้าเยี่ยมชมบล็อก
ที่ไม่ได้ลดลงเลย เฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 คลิก

ผมเองต้องขอบพระคุณทุกท่านที่ยังไม่ลืม Koi-mio แห่งนี้
โอกาสนี้ผมขอแจ้งให้ทุกท่านทราบพร้อมกันว่า
Koi-mio จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิมคือเผยแพร่ สาระและบันเทิง
ความรักและผูกพันธ์ ที่ผมมีต่อปลาคาร์ฟต่อไป

ผมหวังให้ Koi-mio เป็นห้องสมุดอิเล็กโทนิก
สำหรับท่านที่สนใจปลาคาร์พในโอกาสต่อไป

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับปลาคาร์ฟ
โดยผ่าน Koi-mio กันต่อไปนะครับ

Koi-mio